ที่มาภาพ http://travel-made-simple.com/transportation-in-germany/
บทความ : ทำไมคนเยอรมัน นิยมใช้ระบบขนส่งมวลชนมากกว่าคนสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า
โดย ฐาปนา บุณยประวิตร
ผู้อำนวยการสถาบันการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย
อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย
หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่เมื่อ ปี 2555
Eric Jaffe เขียนวิเคราะห์เปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้ระบบขนส่งมวลชนของคนเยอรมันกับคนสหรัฐฯ ไว้อย่างออกรสออกชาติ เขากล่าวว่า คนจากทั้งสองประเทศมีระดับการเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน การเติบโตด้านปริมาณของรถยนต์ในพื้นที่ชานเมืองก็เกือบจะพร้อมๆ กันตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลก ในขณะที่ทั้งสองประเทศได้ลงทุนโครงข่ายถนนทางด่วนในเมืองและระหว่างเมืองในจำนวนที่มากพอๆ กัน หรือแม้แต่จากข้อมูลล่าสุด พฤติกรรมการใช้รถยนต์ของวัยรุ่นที่ลดลงเป็นจำนวนมาก (โดยวัยรุ่นส่วนใหญ่หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชน) ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน รวมทั้งอีกหลายๆ เหตุผล
ที่มาภาพ http://www.citylab.com/commute/2012/10/5-reasons-germans-ride-5-times-more-transit-americans/3510/
คนเยอรมันที่ใช้ระบบขนส่งมวลชน ร้อยละ 88 อาศัยอยู่ในรัศมี 1 กม.นับจากสถานีจอดรถ
ภาพจาก SkyscraperCity
แม้โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยต่างๆ จะมีความใกล้เคียงกันมาก แต่น่าแปลกที่พฤติกรรมในการใช้ระบบขนส่งมวลชนกลับมีความแตกต่างกัน Jaffe นำผลการศึกษาของ Ralph Buehler และ John Pucher จาก The Journal Transport Reviews มาอธิบายซึ่งพบว่า คนเยอรมันใช้ระบบขนส่งมวลชนต่อวันมากกว่าคนสหรัฐฯ 5 เท่า ด้วยเหตุนี้ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ระบบการขนส่งมวลชนของเยอรมันจึงประสบผลสำเร็จมาโดยตลอด เห็นได้จากการเพิ่มขยายเส้นทาง การเติบโตของผู้โดยสาร หรือแม้แต่การเพิ่มจำนวนเที่ยวของรถไฟฟ้า
คนสหรัฐที่ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนร้อยละ 43 ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1 กม.นับจากสถานีจอดรถ
ภาพจาก SkyscraperCity
Jaffe ได้สรุปผลจากรายงานว่ามี 5 ปัจจัยที่ทำให้คนเยอรมันใช้ระบบการขนส่งมวลชนมากกว่าคนสหรัฐฯ ที่เห็นได้ชัดได้แก่
คนเยอรมันเกือบร้อยละ 88 ที่อาศัยอยู่ในรัศมี 1 กม.จากสถานีจอดรถ
ในขณะที่คนสหรัฐฯ เพียงแค่ร้อยละ 43 เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในรัศมีดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบการสร้างระบบราคาค่าโดยสารให้ดึงดูดผู้ใช้บริการและลดค่าบัตรโดยสารเป็นกรณีพิเศษสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ การอนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า การรวมสถานีขนส่งทั้งรถไฟฟ้าขนส่งระหว่างภาค เมืองและย่านไว้ในบริเวณแห่งเดียวกัน (Multimodal Transportation) และพัฒนาพื้นที่รอบด้านสถานีขนส่งมวลชนให้เป็นแหล่งพาณิชยกรรมที่คึกคักมีชีวิตชีวา การออกนโยบายสาธารณะเพื่อการลดการครอบครองรถยนต์ การเพิ่มภาษีการใช้รถยนต์ การเพิ่มค่าจอด การจำกัดเขตการขับขี่ในเมือง หรือแม้แต่การวางผังเมืองเพื่อส่งเสริมให้เกิดความหนาแน่นและสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และนันทนาการในการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานในพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและใจกลางเมือง ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ประเทศเยอรมันได้ดำเนินมาตรการได้อย่างเด่นชัดและประสบผลสำเร็จมากกว่าสหรัฐฯ
ผลการศึกษาของ Ralph Buehler และ John Pucher และการรายงานของ Jaffe จึงน่าจะสรุปได้ ความสำเร็จของการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
1) การพัฒนาที่อยู่อาศัยและย่านพาณิชยกรรมรอบสถานีขนส่งมวลชนตามกลยุทธ์ Transit Oriented Development-TOD ของการเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth) (อ่านเพิ่มเติมจากบทความจาก link: http://www.asiamuseum.co.th/paper/65)
2) การกำหนดนโยบายสาธารณะควบคุมและจำกัดปริมาณการรครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคล การจำกัดเขตหรือโซนนิ่งการใช้รถยนต์ และการกำหนดมาตรการด้านภาษีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ส่วนบุคคลให้เหมาะสมกับแนวนโยบายการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและให้สอดคล้องกับการรณรงค์การลดโลกร้อนรวมทั้งการเอื้ออำนวยของกายภาพเมือง
3) การแก้ไขและเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ นโยบาย และมาตรการด้านผังเมือง พร้อมออกข้อกำหนดส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน และส่งเสริมให้เกิดความหนาแน่นรอบสถานีขนส่งมวลชน การจัดโซนนิ่งพื้นที่สาธารณะ (Public Spaces) และทางเดินขนาดใหญ่ (Pedestrian Mall) เชื่อมต่อระหว่างที่พักอาศัย ย่านพาณิชยกรรมกับสถานีขนส่งมวลชน
ยังมีสาระสำคัญอื่นๆ อีกมาก ชาว SGT แฟนพันธ์แท้ของ Mass Transit อย่าลืมอ่านนะครับ : (Credit: Reconnecting America/The Atlantic Cities): http://www.theatlanticcities.com/commute/2012/10/5-reasons-germans-ride-5-times-more-transit-americans/3510/
ชมคลิป